ชีวิต ความคิด หนังสือ ของผู้ชายชื่อ ปู จิรัฏฐ์

Jiradt Pornpanitphan

Interview

DSC_1402
"ปรัชญาชีวิตจริงๆของพี่คือ อย่าเป็นคนชั่ว 
แต่ปรัชญาการใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไปตลอดเวลาแหละ 
เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน คนที่มีอิทธิพลกับเราก็เปลี่ยนไป 
ตัวเราเองก็เปลี่ยนไปแบบไม่รู้ตัว 

โลกทุกวันนี้ 

แค่เราตื่นนอนมาบางวันปรัชญาชีวิตเราก็เปลี่ยนแล้ว 
ทุกวันนี้พี่คิดแค่ว่าต้องเอาตัวเองให้รอด 
แต่อยู่บนพื้นฐานของคนที่ไม่ชั่ว 
มันก็เพียงพอแล้ว"

ถ้าหากพูดถึงเรื่องราววงการแฟชั่นของไทย เราอาจจะรู้จัก ดีไซเนอร์หลายคนแต่ถ้าหากเป็นหนังสือเกี่ยวกับเทรนด์หรือแฟชั่นของเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก Cheeze Magazine กับ Looker Magazine เราจะเห็นภาพแฟชั่นสวยๆมากมายในหนังสือ แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของคนก่อตั้ง หลายๆคนคงรู้จักกันบ้าง กับ คุณจิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Cheeze และบรรณาธิการบริหารหนังสือ Looker หรือจะรู้จักกันในนาม ‘พี่ปู’

กว่าจะมาเป็นนักคิด นักขียน จนถึงคนทำหนังสือขนาดนี้ พี่ปูต้องเริ่มจากอะไร และต้องเจออะไรกันบ้าง วันนี้ lookbook จะพาเพื่อนๆ เข้าไปค้นความลับ เฮ้ย พาไปทำความรู้จักกับพี่ปูเยอะขึ้น ว่าแล้วเราก็ไปหาพี่ปูกันเลยดีกว่า

พี่ปูช่วยแนะนำให้เพื่อนๆ ชาว lookbook ได้รู้จักกันหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ชื่อจิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร cheeze และหนังสือ looker ส่วนใหญ่คนก็จะเรียกกัน ‘พี่ปู’ พื้นฐานพี่เป็นเด็กต่างจังหวัดแต่รู้สึกว่าโชคดีที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เพราะได้เห็นโลกสองมุม ไม่มีข้อแม้เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวมาก พ่อแม่จะเป็นคนสบายๆ พื้นฐานครอบครัวสบายๆ แต่ไม่ใช่ชีวิตสบายนะ แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ ท่านไม่เคยบังคับเราว่าจะต้องทำอะไร สอนแค่ว่า ถ้าไม่อยากลำบากก็ต้องเรียนหนังสือ และพี่ก็เป็นเด็กเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ  ทำงานหนักไม่ค่อยได้ เป็นเด็กต่างจังหวัดที่มือเท้าขาวมาก งานหนักไม่เอา งานเหงื่อไม่ชอบ ตอนนั้นคิดแค่ว่า เป็นตายยังไงจะไม่ยอมทำงานแบบนั้นเด็ดขาด พี่เลยต้องเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านจนชอบ และพ่อจะเป็นคนชอบให้พี่อ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ พี่จึงชอบอ่านหนังสือตั้งแต่สมัยประถม และต้องอ่านทุกวันด้วยนะ

ส่วนเรื่องการเขียน พี่เริ่มรู้จักสมุดบันทึกตั้งแต่ ม.3 แต่ไม่ได้เขียนเป็นการเป็นงาน ชอบเขียนเล่นๆ มากกว่า มีอะไรก็เขียนลงสมุดไว้และเริ่มเขียนจริงจังตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับความคิด เริ่มเขียนส่งอาจารย์ เป็นการเป็นงาน แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองเขียนดีหรือเป็นนักเขียนหรอก 

ตอนนั้นพี่ไม่ได้วางแผนชีวิตอะไรมากมาย เพราะเป็นคนไม่ค่อยมีแผนในชีวิต มองไว้อย่างเดียวว่า อย่าทำให้ชีวิตลำบาก ต้องพาชีวิตไปสู่ความสบายให้ได้ จึงพยายามหาที่เรียนที่เหมาะกับเรา และทำยังไงก็ได้ให้ได้ไปเรียนที่นั่น สุดท้ายพี่ก็ได้เรียนที่คณะครุศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนเริ่มเรียนใหม่ๆ วงการกราฟฟิกกำลังมาแรง  พี่ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คิดว่าเรียนจบไปคงทำงานสายกราฟฟิกนี่แหละ  แต่ตอนเรียนพี่จะไม่ลงน่ะ พี่ลงน้อยมาก ไปลงตัวอื่นที่ชอบแทน เพราะคิดว่า ถ้าเรียนจบแล้วเราจะไม่มีโอกาสได้ทำ พี่ชอบเรียน สีน้ำ เรียนปั้น เพ้นท์ Fine Art ทุกอย่าง และพอเรียนจบพี่ถึงมาทำกราฟฟิก เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ ณ ตอนนั้น  และสิ่งที่ทำควบคู่ในขณะเรียนอีกอย่างหนึ่ง คือ เปิดร้านขายเสื้อผ้าที่จตุจักร ตอนเรียนอยู่ ปี 1 พี่เรียนไปด้วย ทำงานเสาอาทิตย์ไปด้วย มันสนุกมาก

งานอดิเรกของพี่ปูคืออะไร และเป็นคนมี Life style แบบไหนคะ

งานอดิเรกของพี่จะมีมากกว่างานประจำน่ะ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนจะทำงานแล้ว พี่เป็นคนให้ความสำคัญกับงานอดิเรก เพราะเชื่อว่า งานอดิเรกของคนคืองานที่บ่งบอกถึงความสุข งานประจำไม่ได้บอกว่ามีความสุขหรือไม่มีความสุข แต่มันต้องทำ เพื่อเลี้ยงชีวิต แต่งานอดิเรกของทุกคนคืองานที่เรารัก เราชอบ แล้วพี่ก็เอางานอดิเรกที่เราบ้า เราชอบนี่แหละ มาทำเป็นงานประจำ เพราะฉะนั้นงานอดิเรกของพี่บางทีมันก็แยกไม่ออกกับงานประจำ งานอดิเรกจริงๆของพี่ คือ ช้อปปิ้ง นั่งดูคน ออกไปเจอสังคม เดินทาง ขับรถ ออกท่องเที่ยว ไปคุยกับคน เป็นงานอดิเรกที่โคตรไร้สาระเลย แต่พอทำไปแล้วมันได้เงิน พี่ชอบเดินทางคุยกับคน ชอบขี่มอเตอร์ไซต์ เพราะเก็บกดจากการที่ตอนเด็กๆแม่ไม่ให้ขี่ วันนึงมีเงินเราก็ซื้อ เริ่มขี่ไปนู้นไปนี่ การขี่มอเตอร์ไซต์มันได้อะไรมากกว่าการขี่มอเตอร์ไซต์ ได้มุมมองมากมาย มันสะท้อนให้เราเห็นว่า โลกมีมุมอื่นเสมอ บางทีการนั่งคิดจากมุมเรามันก็ได้เฉพาะมุมจากเรา ความคิดจะไม่กลม แต่ถ้าเราได้วิธีคิดจากมุมอื่นบ้าง ก็จะทำให้วิธีคิด วิธีการทำงานของเรามันอะลุ่มอล่วยต่อโลกมากขึ้น

ถ้าถามว่ามี Life Style แบบไหน คือ เป็นคนมีความมั่นคงกับ life style มาตั้งแต่เด็กๆ คือชอบแฟชั่น ชอบดูคนแต่งตัว ชอบคุยกับคน ชอบเดินตลาด ช้อปปิ้ง เดินงานวัด และทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น สำหรับพี่ ตลาดธรรมดาๆ มักจะซ่อนของที่ไม่ธรรมดาไว้เสมอ ทุกวันนี้ถ้าใครติดตามก็จะเห็นว่าพี่ชอบเดินตลาดจตุจักรและตลาดนัด ห้างพี่ก็ไปน่ะ แค่ยังรู้สึกหลงเสน่ห์กับการเดินตลาดนัดมากกว่า เพราะมันสนุกกับการหาของที่ซ่อนอยู่ ของที่คนไม่ใช้แล้ว เราก็เอามาใส่เล่น

แต่ life style ที่เพิ่มเข้ามา คือ ช่วงนี้จะชอบศึกษาการทำธุรกิจ การเงิน เทรนด์ของโลก ซึ่งสมัยก่อนมันเป็นเรื่องไกลตัว แต่พี่มองว่าวันนี้มันสำคัญน่ะ เพราะเราเป็นผู้บริหาร เราต้องรู้เรื่องการทำธุรกิจเพื่อที่จะทำให้งานเราอยู่ได้ แบบไม่ต้องรวยมากก็ได้แต่ต้องอยู่รอด ก็ต้องรู้จักบริหารให้เป็น และสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับตัวพี่ คงจะเป็นเรื่อง อายุ ที่มากขึ้น โดยไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกที ก็ไปนั่งอยู่ตรงตลาดต้นไม้ เดินดูต้นไม้ เลือกต้นไม้ ซื้อดิน ซื้อปุ๋ย มาใส่บ้าน ใครชวนไปไหนก็ไม่ค่อยอยากออกไปไหนมากเหมือนเมื่อก่อน ทุกวันนี้จะอยู่บ้านเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน มันเป็นไปตามฮอร์โมน แต่ยังสนุกอยู่นะ (หัวเราะ)

DSC_1334-1

อยากให้เล่าถึงเรื่องดราม่าที่สุดในชีวิตหน่อยค่ะ

เรื่องที่คิดว่าเลวร้ายที่สุด คงจะเป็นในวัยเด็ก เรื่องของการเรียน ตอนสมัยประถมพี่เป็นคนเรียนเก่งมาก สอบได้ที่ 1 มาตลอด พอมาถึง ป.4 ปกติเราเรียนอยู่ห้อง ก. แล้วมีผู้หญิงสวยคนนึงอยู่ห้อง ข. เพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นลูกของคุณครูที่สอนอยู่ห้อง ข. เราเลยไปขอคุณครูเป็นนักเรียน ห้อง ข. เพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆผู้หญิงคนนั้น แต่เมือถึงคราวที่ต้องมาสอบ เราไม่รู้ว่าต้องมาสอบห้อง ก. และสมัยก่อน ข้อสอบห้อง ก. ห้อง ข. จะไม่เหมือนกัน พอสอบเสร็จ ผลสอบพี่ได้ที่ 2 ตอนนั้นเป็นช่วงที่เลวร้ายมากสำหรับพี่ พี่ไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะสอบได้ที่ 2  ชีวิตแบบพังแล้ว จึงให้แม่ไปคุยกับคุณครู ว่าต้องได้ที่ 1 เท่านั้น ถึงจะไปเรียน ตอนนี้อาจจะฟังแล้วฮา แต่ตอนนั้นมันจะตาย คือรู้สึกว่าจะมองหน้าใครในหมู่บ้านได้ ต้องอับอายชาวบ้านแน่ๆ เพราะเราคิดว่าตอนนั้นเราเป็นเด็กที่เหมือนเทพนะ เป็นเด็กดี ประกวดมารยาท เรียนเก่ง เป็นหัวหน้าห้อง เป็นความคิดแบบเด็กๆที่มองย้อนกลับไปแล้วคิดว่า กูคิดแบบนั้นไปได้ยังไงว่ะ

แต่พอเข้ามัธยมศึกษา ชีวิตก็พลิกเป็นอีกแบบ เรียนตก ติดเพื่อน หลงแสงสีในกรุงเทพ เที่ยวห้าง กลับบ้านดึก เกรดตอนเรียนจบมาไม่ถึง 2.0 ตอนนั้นก็กลัวเหมือนกัน ว่าทำไมตัวเองถึงเป็นขนาดนั้น อาจารย์สอนเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัว แต่มันก้องในหัวตลอดว่าเราต้องเอ็นทรานซ์ให้ติด เพราะไม่งั้นต้องกลับไปทำงานหนักที่บ้าน ตอนนั้นคงเป็นสภาวะที่ลำบากที่สุดว่าจะทำยังไงถึงจะเอ็นทรานซ์ติด เพราะเกรดเราไม่ถึง 2 .0 ในสมุดพกมี 0 เยอะที่สุดในชีวิต พังมาก ชีวิตจะไปไหนได้ ช่วงนั้นจึงเป็นการดิ้นรนที่สุดในชีวิต ว่าจะทำยังไง ความลำบากตอนนั้นคือ ความกลัว คิดแค่ว่าเราต้องสู้เพราะไม่อย่างนั้น ชีวิตจะไม่รอด 

ลักษณะการทำงานของพี่ปูเป็นยังไงคะ

หลังจากที่พี่เรียนจบมา พี่ก็ทำงานออกแบบตามความฝันได้แค่ปีเดียว แล้วอยู่ๆชีวิตก็พลิกผันมาทำหนังสือเมื่อ 20 ปีที่แล้วแบบฟลุ๊กๆวิธีคิดในการทำงาน พี่เป็นคนชอบทะเยอทะยาน ถ้าได้ทำงานองค์กรไหนก็ตาม พี่ชอบคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กรนั้น หรือเวลาทำงาน ถ้าทำไม่ดีพี่ก็จะไม่ยอมกลับบ้าน จะไม่ยอมปล่อยให้งานที่ไม่ดีออกไปให้คนเห็นอย่างแน่นอน เรายอมเหนื่อย นอนที่ทำงานก็ได้ เนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ก็จะรู้ว่า คนอ่านจะไม่ให้โอกาสเรากันบ่อยๆ กับความผิดพลาดของการทำหนังสือ จะซีเรียสกับเรื่องแบบนี้ เราต้องไม่เอาเปรียบเขา

พี่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเอางานมาก่อน เงินมาทีหลัง ในชีวิตพี่ตั้งแต่ทำงานมา ตั้งแต่สมัครงานพี่ไม่เคยกรอกเงินเดือนก่อนทำงาน เขาจะให้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้างานเราดีก็เดินไปขอเลยเพราะมันก็แฟร์พอ เราไม่กล้าตั้งเงินเดือนตัวเอง ส่วนใหญ่เราจะเอางานนำ และไม่เคยเปลี่ยนงานเพราะเงิน เพราะคิดว่าถ้าเราทำงานโดยเอาเงินเป็นหลัก เราก็สามารถเปลี่ยนงานได้ตลอดชีวิต แต่มันจะไม่มั่นคงหรอก คนที่ทำแบบนี้ไม่สามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้หรอก ไม่สามารถที่จะเติบโตในบริษัทนั้นได้ เพราะต้องวิ่งหางานที่ให้เงินมากกว่าอยู่ตลอดเวลา พี่ว่าโปรไฟล์ของเราและผลงานสำคัญมากกว่าเงิน เพราะวันหนึ่งที่โปรไฟล์ของคุณดีมันจะมีผลตอบแทนที่งดงามมากและจ่ายย้อนหลังให้คุณอย่างมหาศาล

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของพี่ปูคืออะไร

พี่มองว่าปัญหามันมีตลอดเวลาแหละ แต่พี่ชอบน่ะเวลามีปัญหาเข้ามา ไม่เหงาดี สำหรับพี่ปัญหามี 2 แบบ คือปัญหาภายใน กับ ปัญหาภายนอก ปัญหาภายในคือตัวเรานี่แหละ ส่วนปัญหาภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมของงาน และ ผู้คนที่เกี่ยวข้อง เราเจอกับปัญหาภายนอกตั้งแต่วันแรกที่ทำงานจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเจอปัญหานั้นอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดา พี่มองว่าอุปสรรคภายนอกเป็นเรื่องเล็กๆ 

ในเรื่องของ วิธีการจัดการกับปัญหา อย่างเช่นเวลาแก้งาน พี่จะคิดว่า แก้ดีกว่าหนี แก้ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ค่อยซีเรียส ถึงแม้ว่าแก้แล้วอาจจะยังไม่ดีพอ แต่ถ้าคิดในแง่ดี มันก็ดีที่สุดแล้ว ณ เวลานั้น แต่ต้องแก้ ห้ามหนีเด็ดขาด

อุปสรรคที่สนิทๆกันช่วงนี้ ก็คือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนแรง เราก็ต้องปรับ ทำนายอนาคตดีๆ อย่ามัวแต่มานั่งทำหนังสืออย่างเดียว ไม่ทันกิน โลกไปทางไหนก็ปรับตัวรองรับทิศทางนั้น ท่องไว้เลยเราต้องอยู่รอด เพราะชีวิตเหลืออีกยาวนาน ห้ามแพ้

DSC_1425

 

ถ้าไม่มีเทรนด์ สังคมก็คงไม่มีสีสัน เทรนด์มันทำให้ชีวิตดูตื่นเต้น และมนุษย์ก็จะมีความสนุกกับเทรนด์ไปเอง

DSCF0466-1
พี่ปู มีความคิดเกี่ยวกับแฟชั่นในเมืองไทยอย่างไรบ้างคะ

พี่จะมองในแง่ดีมาตลอด มันดีนะเพราะส่วนตัวพี่เป็นคนชอบแต่งตัว ชอบให้คนแต่งตัวดีๆและเรารู้สึกว่า สนใจการแต่งตัวแบบไหนก็แต่งไปเหอะ เดี๋ยวเราจะปรับตัวได้เองว่าจะต้องแต่งตัวแบบไหนถึงจะเข้ากับเรา แฟชั่นในตลาดเมืองไทย คนชอบแยกแยะว่า แบบไหนจริงแบบไหนปลอม แต่พี่กลับไม่สนใจเรื่องพวกนั้น แต่มองว่ามันเป็นเรื่องสนุก  มันคือการเรียนรู้ ต้องให้โอกาสสังคมได้สัมผัส คัดแยก แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นวัฒนธรรมของเราเอง

ส่วนเทรนด์ สำหรับพี่ คือ อุปทานหมู่ พี่ก็หนึ่งในหมู่นั่นแหละ สนุกดี ไม่มีพิษภัยอะไร ถ้าไม่มีเทรนด์ สังคมก็คงไม่มีสีสัน ไม่มีเรื่องเล่าหรือพูดคุย เทรนด์มันทำให้ชีวิตดูตื่นเต้น กราฟเรื่องราวของสังคมมันน่าสนใจ และมันก็บ่งบอกนิสัยของคนในสังคมขณะนั้นด้วย

อยากให้เล่าถึงนิตยสารขวัญใจวัยรุ่น
อย่าง Cheeze & Looker Magazine กันหน่อย

พี่เริ่มต้นในวงการการทำนิตยสารด้วยการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาก่อน แล้วก็มาเป็น Art director และก็ควบตำแหน่ง บ.ก. แฟชั่น มีวันหนึ่งได้รู้จักกับคำว่า on street รู้สึกสนใจและเริ่มศึกษามัน รู้สึกว่ามันเจ๋งมาก เพราะมันคือความหลากหลายของสไตล์การแต่งตัว และมันคือบันทึกวัฒนธรรมการแต่งตัวของสังคม ปกติเราก็จะชอบดูคนแต่งตัวอยู่แล้วด้วย ที่อื่นเขามี STREET กันหมดแล้ว แต่เมืองไทยทำไมยังไม่มี แผงหนังสือเมืองไทยก็ยังอยู่กับอะไรเดิมๆ ประกอบกับมีความคิดอยากทำหนังสือที่ตัวเองได้คิดเองบ้าง เลยเดินถือกล้องไปเดินถ่ายคนเล่นๆ แถวสยาม แล้วก็ทำ mock up เก็บไว้เป็นความฝันจนได้เลื่อนเป็น บ.ก. ของหนังสือเล่มนั้น เราก็ยังไม่มีโอกาส เลยไปรับจ้างเป็น บก ทำหนังสือเล่มอื่นอีก 2 หัวอยู่ประมาณ 2 ปี อยู่มาวันนึงมีคนเดินมาถามว่าอยากทำหนังสือมั้ย เราก็บอกอยากสิ แล้วก็ยื่นตัว mock up ที่ทำเก็บไว้ให้เค้าดู ก็เลยได้ทำ ก็ออกมาเป็นหนังสือ Cheeze มาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ส่วน ชื่อ Cheeze มาจากคำว่า say cheese นั่นแหละ มื่อก่อนหนังสือ Cheeze จะเป็นหนังสือที่มีแต่รูป photo on street ตั้งใจจะทำเป็นหนังสือ photo เพราะเขียนหนังสือไม่ค่อยเป็น

DSCF2182

 

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน Cheeze Magazine มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

พี่ว่ามันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ระยะเวลาในการเปลี่ยนก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ช่วง 5 ปีแรก หนังสือจะไม่ค่อยเปลี่ยนนอกจากอัพเดต หลังจากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนปีละครั้ง เมื่อประมาน 3 – 4 ปีหลัง Cheeze ไม่ได้เป็นแค่หนังสือละ ทุกวันนี้เราอาจจะมีหนังสือ 2 เล่มนะ cheeze กับ looker  แต่ในบริษัทที่มีความเป็น cheeze group เราทำแม็กกาซีน สัดส่วนแค่ 30% อีก 30% ทำ online contents อีก 40% ทำ event เราคิดว่า cheezeคือ brand  cheeze ไม่ใช่หนังสือ เราแค่แจ้งเกิดในรูปแบบหนังสือ เราคิดว่ามันคือ content ที่ไม่มีวันตาย แต่มันต้องปรับทิศทาง ปรับรูปแบบ cheeze ไม่ต้องเป็นแค่หนังสือก็ได้ เป็นยี่ห้อเครื่องเขียน เสื้อผ้า อาหารเสริม ร้านอาหาร งานอีเว้นท์ เป็นอะไรก็ได้ที่อยู่คู่กับคน เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เราก็มีงานออนไลน์เยอะมาก มี social network พี่คิดว่าการช้อปปิ้งจะเป็นหัวใจของคนในยุคนี้และยุคต่อๆไป เราเริ่มทำอีเว้นท์ แล้วก็จะมีแบรนด์อีเว้นของเราอีก 3 -4 ชื่อ ทั้งรับจ้างทำและทำเอง เวลาเราไปหาลูกค้าเราไม่ได้ไปขายโฆษณาเพื่อมาลงหนังสือ แต่เราไปขายแบบยกเซต เราพยายามจัดเป็นเซตให้ลูกค้า เพื่อให้รู้ว่า cheeze ไม่ได้เป็นแค่แม็กกาซีนอีกต่อไป แต่มันเป็นแบรนด์ที่ยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดิมที่ชัดเจนเหมือนเดิม และเกาะติด life style ของผู้คนในยุคนี้แบบ มึงไปไหนกูไปด้วย

lookers-mag

“Looker Magazine”

Looker Magazine เป็นนิตยสารผู้ชาย ซึ่ง target ชัดเจนมาก ก่อนที่ทำจะหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เราวิเคราะห์มาแล้วว่า ผู้ชายจะเริ่มแต่งตัวมากขึ้น และควรจะมีหนังสือผู้ชายสักเล่ม พอมาถึงวันนี้เราก็พบว่ามันก็เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ว่ซึ่งจะเห็นว่าผู้ชายแต่งตัวเยอะขึ้น บางทีแต่งตัวน่าดูกว่าผู้หญิงอีกน่ะ ซึ่งปัจจุบัน looker ก็มาไกลกว่าแม็กกาซีนแล้ว และกำลังจะเริ่มมีโปรดักส์ของตัวเองกับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ 

พี่ปูคิดว่า social network มีผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์มั้ย

กระทบสิ แต่เป็นแบบนี้ยิ่งดีนะ คนแค่เปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร ย้ายพฤติกรรมการเสพข่าวสารไปอีกที่หนึ่งแค่นั้นเอง คนอาจจะไม่ได้อยากอ่านหนังสือแต่ยังต้องเสพข่าวสาร มันอาจจะมีผลกระทบกับเราแค่เริ่มต้น 1.ยอดขายสิ่งพิมพ์ลดลง แต่อย่าลืมว่าสิ่งพิมพ์มันมีต้นทุนสูง เพราะฉะนั้นวันไหนที่ไม่อ่านหนังสือเป็นเล่ม แล้วไปดาวน์โหลด e mag ไปอ่าน เว็ปไซต์ หรือโซเซียล มันยิ่งดี เพราะจะได้ไม่ต้องลงทุนพิมพ์หนังสือและกำไรจะมากขึ้น เราแค่เตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนของพวกเขา และผมว่า online contents มันมีโอกาส worldwide นะ

แต่ส่วนตัวยังรักหนังสือเป็นเล่มอยู่นะ ชอบหยิบอ่าน วางไว้ก็สัมผัสได้ อยากให้มันคงอยู่ คิดว่าในอนาคตมันยังคงมีหนังสืออยู่แหละ แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบ เพราะหนังสือมันคัดกรองมาแล้ว โลกออนไลน์ถ้าคัดกรองไม่เป็นหรือวิเคราะห์ไม่ได้ เสพเข้าไปชีวิตงงเลยนะ

DSC_1388-2

คิดว่าตอนนี้พี่ปู ประสบความสำเร็จหรือยังคะ

ถ้าถามใจพี่ พี่ว่ามันสำเร็จมาทุกวัน รอดมาได้ก็สำเร็จแล้ว ตื่นมาแล้วมีบริษัทอยู่ให้ทำต่อ ก็คิดว่าสำเร็จแล้ว ที่ได้ทำอะไรแบบนี้ ได้โตมา ได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่พี่คิดว่าแค่นี้มันก็คุ้มแล้ว แต่วันพรุ่งนี้ไม่รู้นะ เพราะมันไม่มีอะไรแน่นอน พรุ่งนี้มาสัมภาษณ์พี่ใหม่อีกที พี่อาจอีกแบบ 555

ความรัก ของพี่ปู หมายถึงอะไร

ความรัก คือ เลือด ขาดไปก็ตาย มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยความรัก รักแบบไหนก็อีกเรื่อง พี่รู้สึกว่า พอเรามีความรักเราก็จะยิ้มและมีความสุข ถ้าเราเข้าใจความรักจริงๆ กว้างๆ เราก็เห็นว่า ไม่มีใครเลยที่ไม่มีความรัก ถ้าคูนไม่ได้ผูกติดอยู่กับความรักแบบนั้นแบบเดียว

อยากให้พี่ปูแนะนำหนังสือสักเล่มให้ชาว lookbook กันหน่อยค่ะ

ชอบหนังสือแบบไหน ก็อ่านหนังสือแบบนั้น พี่จะไม่แนะนำหรือบังคับให้อ่าน จะบอกว่าอ่านอะไรก็ได้ หนังสือมันก็จะซ่อนความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น จริงๆแค่ประโยคเดียวในหนังสือแต่ละเล่ม ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้

อยากจะฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่มีโอกาสเยอะกว่าคนรุ่นเก่ามาก เก่งๆ เยอะ มีข้อมูลข่าวสารให้ศึกษาเพียบ ขอให้วิเคราะห์ให้เป็น จริงๆไม่จำเป็นต้องรู้เยอะ แต่ขอให้รู้จริงก็พอ พี่เคยได้ยินในรายการวิทยุ เค้าบอกว่า สิ่งที่อันตรายของมนุษย์คือเราไม่รู้ว่าเราต้องรู้อะไรบ้าง ดังนั้นเราจะทำอะไรเราต้องรู้ให้จริง และเมื่อได้รับโอกาส ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ทำไปเลย

nowcheeze

สุดท้ายให้พี่ปู ฝากผลงาน หน่อยค่ะ

จริงๆ ก็ไม่อยากขายของ เอาเป็นว่าฝากเนื้อฝากตัว พบเจอที่ไหนทักทายเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำด้วยนะครับ

เพื่อนๆสามารถติดตามเรื่องราวของพี่ปูเพิ่มเติมได้ที่
Social Media 
Facebook Instagram 

Writer : Plowhy

Photographer :  Ongart Ketudom